รวม 7 หมวดอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ ฟิตติ้ง อุปกรณ์สำคัญกับงานบิวท์อิน (Built-in)
หนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราคือที่อยู่อาศัย ซึ่งหมายรวมถึงบ้าน และรวมถึงคอนโดที่คนยุคใหม่นิยมใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลักกันมากในปัจจุบัน การให้ความสำคัญกับการจัดการบ้าน หรือที่อยู่อาศัยให้มีสภาพแวดล้อมที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่หลายๆ คนให้ความสำคัญ และอาจมีเรื่องของเทรนด์การตกแต่งบ้านที่หลายๆ คนให้ความสนใจ
รวม 7 หมวดอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ ฟิตติ้ง อุปกรณ์สำคัญกับงานบิวท์อิน (Built-in) การออกแบบตกแต่งภายใน สำหรับบ้าน และคอนโด
1. อุปกรณ์มือจับเฟอร์นิเจอร์
มือจับ ไม่ได้มีคุณสมบัติแค่ใช้ยึดติดกับหน้าบานเพื่อสะดวกต่อการใช้เปิดงาน แต่ยังถือเป็นอุปกรณ์ที่คล้ายเครื่องประดับให้กับเฟอร์นิเจอร์ด้วย ดังนั้น วิธีการเลือกซื้อมือจับนอกจากจะต้องดูเรื่องประเภทของวัสดุ รูปแบบที่จะใช้ติดตั้ง และความสะดวกในการใช้งานแล้ว การเลือกมือจับเฟอร์นิเจอร์ให้ลงตัว เข้ากันกับรูปแบบการดีไซน์ชิ้นงานนั้น ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความสวยงามน่ามองแล้ว มันยัง บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ และรสนิยมของเจ้าของได้ด้วย
มือจับเฟอร์นิเจอร์
2. อุปกรณ์เฟรมอลูมิเนียมเฟอร์นิเจอร์
เฟรมอลูมิเนียม เกิดจากการนำอลูมิเนียมมารีดขึ้นรูปเป็นเส้น (Extrusion) และนำมาปั๊ม ตัด เจาะ ทำสีสัน เป็นรูปทรงหลากหลาย เพื่อนำมาใช้เป็นชิ้นส่วนงาน Indoor สำหรับประกอบเป็นอุปกรณ์ตกแต่งเฟอร์นิเจอร์หลากหลาย เช่น
-
เส้นเฟรมอลูมิเนียม สำหรับตัดประกอบเป็นหน้าบานตู้ต่างๆ เรียกว่า หน้าบานเฟรม โดยสามารถประกอบเป็นเฟรมกระจก และเฟรมไม้
-
มือจับเฟรมอลูมิเนียม
-
ฉากอลูมิเนียม มีไว้สำหรับตกแต่งตีขอบ ทำมุม ทั้งแบบหนา / แบบบาง ด้านเท่า / ด้านไม่เท่า
-
คิ้วอลูมิเนียมคิ้วตัว T มีไว้สำหรับตกแต่งประตู ตู้ไม้ ตกแต่งเป็นลูกเล่นบนผนัง
-
คิ้วอลูมิเนียมตัว U มีไว้สำหรับเบรครอยต่อของสองวัสดุ ใช้ตกแต่งผนังให้มีลูกเล่น ลวดลายสวยงาม โดยโชว์ด้านร่องปีกของตัวยู ช่วยเก็บงานขอบไม้ หรือขอบผนังที่บิ่นได้ดี
อุปกรณ์เฟรมอลูมิเนียมเฟอร์นิเจอร์
3. อุปกรณ์บานพับถ้วย
บานพับ เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ทำหน้าที่ช่วยให้หน้าบานสามารถยึดติดกับโครงตู้ โดยจะทำหน้าที่การถ่ายแรง หรือรับน้ำหนักหน้าบานเอาไว้ เพื่อที่เราจะสามารถใช้งานตู้ในลักษณะบาน เปิด-ปิดได้ เราจะพบเห็นบานพับถ้วยอยู่ด้านในของหน้าบานประตูตู้เสื้อผ้า บานประตูตู้โชว์บานประตูตู้ครัว ฯลฯ บานพับมีหลากหลายชนิด แต่บานพับที่ใข้กับหน้าบานเฟอร์นิเจอร์จะมีลักษณะของตัวอุปกรณ์บานพับที่ด้านหนึ่งเหมือนถ้วยทรงกลม นั่นจึงเป็นที่มาของการเรียกบานพับชนิดนี้ว่า บานพับถ้วย
ในส่วนของวิธีการใช้งานบานพับที่ถูกต้อง หลักๆ เราต้องเลือกใช้ให้ถูกกับประเภทของวัสดุของหน้าบาน เช่น หน้าบานไม้ หน้าบานเฟรมอลูมิเนียม หรือหน้าบานกระจกเปลือย และที่สำคัญอย่าลืมคำนวณจำนวนบานพับที่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับน้ำหนัก และความสูงโดยรวมของหน้าบานนั้นๆ ด้วย
อุปกรณ์บานพับถ้วย
4. อุปกรณ์รางลิ้นชัก
รางลิ้นชักเป็นอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ที่นำมาใช้งานกับเฟอร์นิเจอร์ได้เกือบทุกชนิด เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เฟอร์นิเจอร์นั้นมีฟังก์ชันการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ทำหน้าที่ในการเลื่อนเปิด-ปิด เป็นตัวช่วยในการรับน้ำหนักของลิ้นชักรวมถึงรับน้ำหนักสิ่งของที่บรรจุอยู่ในลิ้นชัก รางลิ้นชักโดยทั่วไปนั้นจะมีอยู่ 4 แบบ และแต่ละแบบมีลักษณะ และคุณสมบัติการใช้งานที่ต่างกัน เช่น
รางลิ้นชักแบบตอนเดียว (Single extention)
มีข้อดีคือราคาถูก หาซื้อง่าย ข้อจำกัดของรางลิ้นชักชนิดนี้ คือ กล่องลิ้นชักจะถูกดึงออกมาได้ไม่สุด เนื่องจากรางด้านในจะบังคับไว้ไม่ให้กล่องลิ้นชักหลุดออกจากระบบราง ซึ่งจะทำให้เสียพื้นที่จริงไปกับช่วงล้อด้านในที่อยู่ในภายในตู้ประมาณ 7-9 cm. และรางชนิดนี้ส่วนมากจะไม่มีระบบ Soft Close ที่ช่วยในการลดแรงกระแทกเวลาปิดลิ้นชัก จึงเหมาะกับลิ้นชักที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก
รางลิ้นชักแบบ 2 ตอน (Full Extention)
รางลิ้นชักชนิดนี้ จะเป็นแบบที่เห็นกันได้ทั่วไปตามเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น ตู้เสื้อผ้า ตู้เก็บของ เป็นรางลิ้นชักลักษณะติดด้านข้าง 2 ตอน รางลิ้นชักชนิดนี้ตัวกล่องลิ้นชักจะสามารถดึงออกมาจนสุดได้ สไลด์ของรางลิ้นชักจะใช้เป็นแบบรางลูกปืน หรือล้อไนลอน ทำให้มีความไหลลื่นเวลาเปิด-ปิด มีระบบให้เลือกใช้แบบธรรมดา และแบบ Soft close
รางลิ้นชักรับใต้ / รางลิ้นชักแบบซ่อน (Concealed Runners)
รางลิ้นชักประเภทนี้ เป็นรางลิ้นชักที่ได้รับความนิยมในหมู่งานบิ้วอินภายในมากที่สุด เนื่องจากตัวรางเป็นแบบรับด้านใต้ซ่อนอยู่ใต้รางทำให้ดูสวยงาม ดูโมเดิร์น มีแบบ 1-3 ตอน สไลด์รางมีทั้งแบบระบบลูกล้อไนลอน และระบบลูกปืน และมักทำเป็นระบบ Soft Close
รางลิ้นชักแผงข้าง / รางลิ้นชักสำเร็จรูป
เป็นรางลิ้นชักที่นิยมในงานบิ้วอินบ้าน และบิ้วอินคอนโด เช่น บิ้วอินตู้เสื้อผ้า บิ้วอินครัว เนื่องจากติดตั้งง่าย และสะดวก เพราะตัวอุปกรณ์รางลิ้นชักจะมาเป็นชุดสำเร็จรูป ซึ่งประกอบไปด้วยตัวรางลิ้นชัก ฐาน แผงกั้นด้านข้างในการใช้ติดตั้งแค่นำหน้าบานมาประกอบเข้าตัวลิ้นชักด้านหน้า ตัวราง รับกล่องของลิ้นชักจะถูกซ่อนอยู่ใต้แผงข้างทั้งสองฝั่ง ก็จะสามารถใช้งานได้ทันที
อุปกรณ์รางลิ้นชัก
5. อุปกรณ์บานเลื่อน และรางบานเลื่อน
อุปกรณ์บานเลื่อน หรืออุปกรณ์รางเลื่อนประตู (Door Sliders) อุปกรณ์สำคัญที่ใช้สำหรับทำประตูบานเลื่อนให้สามารถเปิด-ปิด หน้าบาน ในลักษณะเลื่อนออกด้านข้าง โดยที่สามารถเลือกติดตั้งให้เป็นแบบเลื่อนออกทิศทางเดียว หรือเลื่อนออกแบบสองทิศทางทั้งซ้าย-ขวา อุปกรณ์บานเลื่อนมักจำหน่ายแบบเป็นชุดอุปกรณ์ ซึ่งหลักๆ จะมีชุดลูกล้อ ตัวแขวนบานประตู ตัวกันแกว่ง และตัวหยุดล้อเลื่อน มาให้ในชุด
รางอลูมิเนียม หรือรางเลื่อนอลูมิเนียม คือชิ้นส่วนอุปกรณ์หลักที่สำคัญของอุปกรณ์บานเลื่อน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งกับประตูบานเลื่อนประเภทต่างๆ โดยตัวรางเลื่อนอลูมิเนียมนั้น มีทั้งแบบรางเลื่อนบนรางเลื่อนล่าง รางเลื่อนประตูแบบรางเดี่ยว รางเลื่อนประตูแบบรางคู่ โดยส่วนใหญ่มีมาตรฐานความยาวของรางให้เลือกอยู่ที่ 2, 4, และ 6 เมตร ระบบรางเลื่อนอลูมิเนียมที่ดีจำเป็นต้องมีความแข็งแรงสูงเพื่อความปลอดภัย มีรูปแบบที่ง่ายต่อการติดตั้ง เปิดปิดลื่นไหล และในขณะเดียวกันแนะนำให้เลือกรุ่นที่มีฟังค์ชั่นเปิดปิดนุ่มนวล (Soft close) เพราะนอกจากจะช่วยให้เสียงเงียบแล้ว ยังเป็นการถนอมหน้าบานจากการถูกกระแทกได้ด้วย
อุปกรณ์บานเลื่อน และรางบานเลื่อน
6. อุปกรณ์จัดเก็บตู้เสื้อผ้า
อุปกรณ์จัดเก็บเสื้อผ้า ถูกจัดอยู่ในหมวดอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ช่วยประหยัดพื้นที่ (Space Saving) ใช้ตกแต่งเพื่อเพิ่มพื้นที่การใช้งานให้กับตู้เสื้อผ้า หรือ Walk-in Closet ให้มีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ครอบคลุมการจัดเก็บเสื้อผ้าตามไลฟ์สไตล์ของบุคคล โดยมากตัวอุปกรณ์จัดเก็บเสื้อผ้าส่วนใหญ่ จะมีลักษณะเป็นโครงเหล็ก หรืออลูมิเนียม ที่มีกลไกที่สามารถหมุน ปรับระดับ พับ ยืด หด หรือมีลักษณะฟังก์ชันเป็นรางเลื่อนสไลด์ในทิศทางต่างๆ ซึ่งรูปแบบการใช้งานของอุปกรณ์ก็มีทั้งแบบ Automation และ Manual ให้เลือกใช้
อุปกรณ์จัดเก็บตู้เสื้อผ้า
7. อุปกรณ์จัดเก็บในห้องครัว
ไม่ว่าพื้นที่ของห้องครัวในบ้านจะขนาดเล็ก หรือใหญ่ขนาดไหน หากไม่ได้จัดระเบียบของใช้ให้เป็นที่เป็นทาง ไม่จัดให้เป็นหมวดหมู่ก็จะเจอกับปัญหาครัวรกที่หมกความสกปรกไว้ และเวลาจะหยิบใช้ก็จะต้องเจอกับความวุ่นวาย ผู้คนสมัยใหม่จึงหันมาเลือกใช้อุปกรณ์จัดเก็บในห้องครัว ซึ่งเป็นไอเทมที่ชาญฉลาดในการจัดระเบียบครัวที่ดี เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะเข้ามาช่วย และแก้ไขปัญหาการจัดวางให้เป็นโซน เป็นหมวดหมู่ และยังมีฟังก์ชันที่ช่วยให้เข้าถึงพื้นที่ ที่เป็นซอกแคบ พื้นที่มุมตู้ พื้นที่ด้านบนของตู้สูง และพื้นที่ด้านลึกข้างในตู้ครัว รวมถึงมีอุปกรณ์จัดเก็บในห้องครัวกลุ่มที่เป็นชั้นวางภายนอก ตะแกรงแขวนอุปกรณ์ที่ผนัง ฯลฯ ที่สามารถเลือกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อุปกรณ์จัดเก็บในห้องครัว